รายงานผลการศึกษาจัดทำข้อมูลการจัดการทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรและ
การปลูกพืชเศรษฐกิจหลักตามกลุ่มชุดดิน
และ
การเชื่อมโยงข้อมูลกับข้อมูลดินของกรมพัฒนาที่ดิน
-----------------------------
1.บทนำ
1.1 หลักการและเหตุผล
ทรัพยากรดินเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตทางการเกษตร แต่ในปัจจุบันทรัพยากรดินในประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินเพื่อการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการปรับปรุงและการอนุรักษ์ที่เหมาะสมและดีพอมาเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ทรัพยากรดินเสื่อมทั้งคุณภาพและความเหมาะสมในการเพาะปลูก ตลอดทั้งการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในอดีตมุ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าไปในพื้นที่ที่ควรจะสงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ เป็นเหตุให้ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายลงเป็นอันมาก ในสภาวะปัจจุบันวิธีการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีก จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนาทรัพยากรดินที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอยู่แล้วให้มีความสามารถในการผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรดินที่มีปัญหาในการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร (problemsoils) ให้มีความเหมาะสมและสามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรดินที่มีความเหมาะสมทางการเกษตรมีจำนวนจำกัดและบางส่วนได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่น
ในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของทรัพยากรดิน จำเป็นต้องทำการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรดินแต่ละชนิด แต่ละกลุ่ม ทั้งทางด้านกายภาพคุณสมบัติทางเคมี และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการเกิดดิน ตลอดจนปัญหาหรืออุปสรรคในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินแต่ละชนิด หรือแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ และวิธีการในการปรับปรุงและอนุรักษ์ให้ทรัพยากรดินเหล่านั้นมีศักยภาพในการผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืน (sustainable soil productivity) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงได้ทำการศึกษาการจัดการกลุ่มชุดดินทั้ง 62 กลุ่ม ตามที่กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการจำแนกและจัดพิมพ์เป็นรายงานแผนที่ความเหมาะสมของดินกับพืชเศรษฐกิจเบื้องต้น มาตราส่วน 1:50,000 ในระดับจังหวัดอย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการกลุ่มชุดดินอยู่บ้างแล้ว แต่ข้อมูลดังกล่าวยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน และของกรมกองอื่น ๆ ทีเกี่ยวข้อง ยังมิได้มีการจัดรวบรวมเข้าเป็นระบบที่ดี ทันสมัย สามารถนำออกมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การศึกษาครั้งนี้จึงเน้นทำการศึกษารวบรวม จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าว ด้วยเครื่องระบบสมองกลที่ทันสมัยและนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติโดยภูมิปัญญาของเกษตรไทยในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ผลของการศึกษาครั้งนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเพื่อจัดทำทางเลือกและการตัดสินในในการผลิตทางการเกษตรของตนเองแลประกอบการวางแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน ตลอดจนแผนงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดิน พืช ปุ๋ย และอื่น ๆ ซึ่งเป็นงานหลักของกรมพัฒนาที่ดินได้อีกด้วย