2.5 การศึกษาการจัดการกลุ่มดินเพื่อให้มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ

        สำหรับในหัวข้อนี้ได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ

        2.5.1 การเลือกชนิดของพืช ที่จะใช้ปลูกซึ่งพิจารณาจาก

                 2.5.1.1 ชนิดของพืชที่เกษตรกรคุ้นเคยและนิยมปลูกอยู่ในพื้นที่ในปัจจุบัน ในกรณีนี้ชนิดของพืชที่ปลูกจะหลากหลายแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่ดินกลุ่มนั้น ๆ แพร่กระจายอยู่

                2.5.1.2 จากรายงานแนวทางการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของภูมิภาคที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

                2.5.1.3 ตามชั้นความเหมาะสมของกลุ่มดินในสภาวะการณ์ต่างๆ ดังที่ได้จัดไว้ในหัวข้อก่อน

            2.5.2 การจัดการเพื่อแก้ปัญหาและข้อจำกัดในการปลูกพืชของกลุ่มดินขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการรวบรวมศึกษา ผลการทดลอง วิจัยในการขจัดปัญหาและข้อจำกัดของกลุ่มดินต่าง ๆ ในการปลูกพืช พร้อมทั้งวินิจฉัยกำหนดมาตรการการจัดการเพื่อแก้ปัญหาและข้อจำกัดนั้น ๆ ดินบางชนิดบางกลุ่มยังมีการศึกษาทดลองเพื่อการขจัดปัญหาดังกล่าวไม่เพียงพอ ดังนั้นการวินิจฉัยกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาจึงอาศัยความรู้ความชำนาญ และหลักทฤษฎีเก่า ๆ ไปก่อน สำหรับปัญหาและข้อจำกัดนั้นได้ยึดถือปัญหาและข้อจำกัดที่ได้รวบรวมศึกษามาแล้วจากข้อ 2.4

            2.5.3 การจัดการกลุ่มดินเพื่อรักษาเสถียรภาพของการผลิต (Sustainable SoilProductivity) เป็นการจัดการเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์และรักษาเสถียรภาพทางการผลิตของดิน โดยเน้นในเรื่องระบบปลูกพืช การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่พืชในอัตราที่เหมาะสม โดยอาศัยพิจารณาจากคุณสมบัติของกลุ่มดินและความต้องการของพืชแต่ละชนิด ตลอดจนจากผลการศึกษาทดลองของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

        นอกจากการจัดการดังกล่าวแล้วยังได้พิจารณากำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ คุณสมบัติของดิน และมีความเป็นไปได้ทางปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ที่ดินในแต่ละระดับอีกด้วย สำหรับมาตรการที่เสนอแนะดังกล่าวได้พิจารณาจากคุณสมบัติของกลุ่มดิน และผลการศึกษาทดลองของนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

backforward