6. การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 17 เพื่อให้เหมาะสมในการปลูกพืช
ในการจัดการกลุ่มชุดดินที่ 17 ให้เหมาะสมในการปลูกพืชนั้น จำเป็ฯต้องพิจารณาจากข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้กล้าวมาแล้วพิจารณาร่วมกับการจัดระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับศักยภาพของดินแต่ละขุดในกลุ่มดินที่ 17 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
6.1 การเลือกชนิดของพืชให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และชนิดของดิน เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 17 พบในสภาพพื้นที่ราบต่ำมีสภาพพื้นที่ราบเรียบถึงเกือบราบเรียบเป็นส่วนใหญ่จึงเหมาะสมในการปลูกข้าวเป็นอันดับแรกในช่วงฤดูฝน และสามารถปลูกพืชไร่อายุสั้น เช่นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ยาสูบและพืชผักต่าง ๆ ก่อนและหลังการปลูกข้าวได้ นอกจากนี้ควรจะได้พิจารณานำพืชบำรุงดินมาปลูกสลับกับการปลูกข้าวเพื่อช่วยในการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์และคุณสมบัติทางกายภาพของดิน การที่จะใช้กลุ่มชุดดินนี้ปลูกไม้ผลนั้นจำเป็นจะต้องป้องกันน้ำท่วม โดยทำคันล้อมรอบพื้นที่และมีการนกร่องเพื่อช่วยปรับปรุงการระบายน้ำของดิน
6.2 การจัดการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม กลุ่มชุดดินที่ 17 มักจะมีน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนถ้าจะใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก จำเป็นต้องการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการทำคันล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม และมีประตูสำหรับเปิดและปิดให้นำเข้าและระบายออกจากแปลงเพาะปลูกได้ด้วย
6.3 การจัดการเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดินซึ่งจะต้องทำต่อเนื่องจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมเพราะกลุ่มชุดดินนี้ในช่วงฤดูฝนระดับน้ำใต้ดินจะอยู่ตื้นใกล้ผิวดิน บางแห่งอาจอยู่ที่ผิวดิน จำเป็นต้องมีการยกร่องถ้าจะใช้ในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก การทำร่องระบายน้ำรอบแปลงก็มีความจำเป็นในกรณีที่ปลูกพืชไร่และผักที่ไม่มีการยกร่องเป็นแปลงๆ เพื่อช่วยระบายน้ำออกเมื่อเวลาฝนตกหนัก
6.4 การจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้านโครงสร้างของดิน เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 17 มีเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและมีโครงสร้างของดิน เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 17 มีเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและมีโครงสร้างค่อนข้างแน่นทึบ ไม่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักในอัตรา 1.5-2.0 ตันต่อไร่ ใส่คลุกเคล้ากับเนื้อดินบน หรือการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทืองและโสนอัฟริกาแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด หรือการใช้วัสดุปรับปรุงดินอย่างอื่น เช่น ขี้เลื่อย แกลบ กากน้ำตาล และเศษพืชเป็นต้น ไถคลุกเคล้าและกลบลงไปในดิน จะช่วยทำให้ดินเกิดความร่วนซุย เมื่อสิ่งเหล่านี้สลายตัวดีแล้วจะช่วยดูดซับธาตุอาหารพืชที่ใส่ลงไปในรูปของปุ๋ยเคมี ไม่ให้สูญเสียไปได้ง่ายอีกด้วย
6.5 การจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 17 ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำและเสื่อมลง เป็นผลจากการใช้ในการเพาะปลูกติดต่อกันเป็นเวลานานจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีดังนี้
6.5.1 การจัดระบบการปลูกพืชหมุนเวียนที่มีพืชตระกูลถั่วสอดแทรกอยู่ในระบบการปลูกพืชหลัก ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินและเป็นการเพิ่มผลผลิตของพืชหลักที่ปลูกอีกด้วย การปลูกพืชหมุนเวียนที่มีพืชตระกูลถั่วแทรกอยู่ เช่น ถั่วเหลือง-ข้าว-ยาสูบ หรือ พืชผัก-ข้าว-ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น จะช่วยเพิ่มูธาตุอาหารให้แก่ดินในรูปของการตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศโดยปมของรากถั่ว และการไถกลบเศษพืชของถั่วลงในดินหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นอกจากเป็นการเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้แก่ดินแล้ว ยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้คงอยู่ตลอดไป
6.5.2 การปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงในดิน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน พืชปุ๋ยสดที่แนะนำได้แก่ ปอเทือง โสน โสนอัฟริกัน และถั่วต่าง ๆ โดยปลูกพืชปุ๋ยสดเหล่านี้ก่อนการปลูกข้าว 2-3 เดือน แล้วไถกลบลงไปในดินเมื่อพืชปุ๋ยสดออกดอก เป็นวิธีปรับปรุงบำรุงดินอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้น และยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้คงอยู่ตลอดไป
6.5.3 การใช้ปุ๋ย เพื่อปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินและการเพิ่มผลผลิตของพืชที่ปลูกสำหรับกลุ่มชุดดินที่ 17 นั้น จำเป็นต้องใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี เนื่องจากลักษณะเนื้อดินค่อนข้างเป็นทรายและความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสดจะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางด้านกายภาพให้ดีขึ้น โดยใช้อัตรา 1.5-2.0 ตันต่อไร่ ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นจะช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารหลัก รองและจุลธาตุให้แก่ดินและพืช สำหรับอัตราและสูตรปุ๋ยที่ใช้นั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของดินและพืชที่ปลูก ซึ่งสรุปไว้ในตารางที่ 3