7. ข้อเสนอแนะการใช้กลุ่มดินที่ 17 เพื่อการเกษตร

          เนื่องจากกลุ่มชุดดินนี้พบในสภาพพื้นที่ราบต่ำ ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำขังแช่เป็นระยะเวลา 3-4 เดือนในรอบปี จึงมีศักยภาพเหมาะสมในการที่จะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ปลูกพืชไร่อายุสั้น เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ยาสูบ ข้าวโพด และพืชผักต่าง ๆ ก่อนและหลังการปลูกข้าว เพราะดินมีความชื้นพอที่จะปลูกได้ และมีแหล่งน้ำธรรมชาติหรือพัฒนาขึ้นมาเสริม อย่างไรก็ตามเพื่อให้การใช้ที่ดินกลุ่มนี้มีประสิทธิ์ภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ควรจัดระบบการใช้ที่ดิน “ แบบไร่นาสวนผสม” โดยมีการแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้

        7.1 บริเวณที่ใช้ทำนาหรือปลูกข้าว ควรเป็นพื้นที่รายต่ำสุดของบริเวณที่ดินที่เกษตรกรถือครอง ในช่วงฤดูฝนน้ำจะขังเร็วกว่าพื้นที่ส่วนอื่นและมักจะไม่ขาดน้ำในการเพราะปลูกข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวที่ปลูกควรปฏิบัติตามข้อเสมอแนะที่ได้กล่าวไว้ในตาราง 3 เกี่ยวกับการจัดการดินเพื่อให้เหมาะสมในการปลูกข้าว พื้นที่ส่วนนี้สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่อายุสั้นและพืชผักต่าง ๆ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวได้ด้วย เพราะจะเป็นบริเวณที่ดินยังมีความชื้นพอที่จะปลูกได้

        7.2 บริเวณที่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชผักและไม้ผลตลอดปี ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าบริเวณ 7 : 1 คือเป็นนาค่อนข้างดอน ทำคันล้อมรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมและปรับปรุงสภาพการระบายน้ำของดินโดยการยกร่องหรือทำร่องระบายน้ำรอบแปลง รวมทั้งการปรับระดับพื้นที่ภายในแปลงให้สม่ำเสมอ การจัดการดินเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ชนิดต่าง ๆ ควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวไว้ในตารางที่ 3

        7.3 บริเวณที่พัฒนาแหล่งน้ำ ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าว และพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่าง ๆ พื้นที่ส่วนนี้จะไม่ลุ่มและดอนจนเกินไป ขนาดของแหล่งน้ำที่จะพัฒนานั้นควรเป็นขนาดแหล่งน้ำประจำไร่นาคือมีความจุประมาณ 1,250 ม3 จะมีจำนวนกี่แห่งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ประโยชน์ และแหล่งน้ำที่พัฒนาขึ้นมานี้ควรจะมีการเลี้ยงปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดเช่น ปลาไน ปลาสลิด ปลาดุก ปลาสวาย ปลาหมอตาล ปลาเทโพ และ อื่นๆ สำหรับบริเวณคันดินรอบบ่อหรือสระน้ำที่พัฒนาขึ้นควรใช้เป็นที่ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ฝรั่ง กล้วย ฯลฯ และไม้ดอกและไม้ประดับ ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้บริเวณคันดินรอบบ่อควรมีการปลูกหญ้า เช่น หญ้าแฝกทั้งด้านในและด้านนอกเพื่อป้องกันการกัดเซาะดินบริเวณคันดินรอบบ่อด้วย

        7.4 บริเวณที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ หมู และเป็ดเป็นต้น ควรใช้บริเวณพื้นที่ที่พัฒนาเป็นแหล่งน้ำที่มีการเลี้ยงปลาด้วย โดยสร้างเป็นโรงเรือนขึ้นมา แล้วมีการเลี้ยงไก่ หมู และหรือเป็ด ให้ถ่ายมูลลงในบ่อน้ำเพื่อเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนอาหารปลาได้ส่วนหนึ่งสำหรับอัตราส่วนการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแห่งความต้องการของเกษตรกรผู้ถือครองที่ดิน และสภาพเศรษฐกิจได้แก่ ความต้องการของตลาดทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่น สำหรับผลิตผลทางการเกษตรที่กล่าว อย่างไรก็ตามควรจะได้ยึดตามแนวทฤษฎีใหม่ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรของพระบาทสมเด็จอยู่หัว ที่มีแนวพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ถือครองเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

   

   back.gif (2807 bytes)forward.gif (2807 bytes)