ภาคผนวก 2 : การจัดการดินเพื่อทำไร่นาสวนผสมในที่ราบต่ำ

        การทำไร่นาสวนผสม หมายถึงระบบการเกษตรที่เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด โดยแบ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งดำเนินกิจกรรมการเกษตรอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การปศุสัตว์และการประมง จุดมุ่งหมายของการทำไร่นาสวนผสมก็เพื่อเป็นการกระจายการผลิตในระดับไร่นาและลดความเสี่ยงในด้านการผลิตและการตลาดของเกษตรกร โดยเน้นการใช้ทรัพยากรทีดิ่นและดินให้มีประสทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ดังนี้นการทำไร่นาสวนผสมจะต้องมีการวางรูปแบบการผลิตและให้ความสำคัญต่อกิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพทางกายภาพของดินและที่ดิน สภาพเศรษฐกิจและสังคม การใช้แรงงาน การใช้ทรัพยากรอื่น รวมถึงเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัสดุเหลือใช้จากกิจกรรมการผลิตอย่างหนึ่งไปเอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งในไร่นาแบบครบวงจร พื้นที่ที่เหมาะสมจะดำเนินกิจกรรมไร่นาสวนผสมจะต้องมีแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำพัฒนาเพื่อให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการตลอดปี สำหรับการจัดการดินและที่ดินเพื่อกิจกรรมการผลิตต่าง ๆ พอกล่าวสรุปได้ดังนี้

    1. การจัดการดินสำหรับการปลูกข้าว-เลี้ยงปลา-พืชล้มลุก

        พื้นที่ที่จะใช้ในการปลูกข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวและทำการปลูกพืชล้มลุกหลังฤดูทำนา ควรเป็นพื้นที่บริเวณราบเรียบและต่ำสุดของพื้นที่ที่เกษตรกรถือครองและควรมีเนื้อที่ 10-15 ไร่ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับขนาดการถือครองที่ดิน การเตรียมพื้นที่สำหรับการเลี้ยงปลาในนาข้าวนั้น ให้ขุดดินในพื้นที่นารอบแปลงที่จะเลี้ยงปลาและทำคันดินที่แข็งแรงรอบแปลงและภายในแปลงจะมีคูล้อมรอบสามารถเก็บกักน้ำให้ขังอยู่ในแปลงนา สำหรับคูที่กล่าวควรมีขนาดกว้าง 50 ซม. ลึกระหว่าง 30-50 ซม. และคันดินล้อมรอบควรสูง 75-100 ซม. เหลือคันดินให้สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดประมาณ 60 ซม. คันดินควรมีขนาดกว้าง 50-100 ซม. และที่มุมแปลงนาที่ต่ำสุดควรขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 60-70 ซม. เพื่อสะดวกในการจัดปลา โดยปลาจะมารวมกันในหลุมเมื่อเวลาน้ำลดในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว และพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นทางระบายน้ำออกจากแปลงนาด้วย

        สำหรับปลาที่แนะนำให้เลี้ยงในแปลงนาได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปลาดุกและปลาสลิด เป็นต้น ปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในนาข้าวควรมีขนาดความยาว 3-5 ซม. ปล่อยในอัตรา 400-600 ตัวต่อไร่ และให้ปล่อยปลาหลังจากปักดำข้าวประมาณ 7 วัน ปล่อยน้ำเข้ามาให้สูงประมาณ 30 ซม. ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงระหว่าง 3-4 เดือน ซึ่งจะพอดีกับข้าวสุกเก็บเกี่ยวได้และปลามีขนาดโตพอที่จะจับไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ การให้อาหารปลาให้วันละหนึ่งครั้งก็จะเป็นการเพียงพอ

        ประโยชน์ที่ได้รับจากการเลี้ยงปลาในนาข้าวคือ มูลของปลาจะเป็นปุ๋ยให้แก่ข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ปลายังช่วยกินวัชพืชหรือแมลงที่เป็นศัตรูของข้าวและช่วยพรวนดินในนาข้าว นอกจากที่กล่าวแล้ว การเลี้ยงปลาในนาข้าวยังมีผลในทางที่ดีต่อการปลูกพืชล้มลุกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวอีกด้วย กล่าวคือดินและโคลนที่อยู่ในแปลงนาข้าวจะมีมูลปลาตกค้างอยู่ซึ่งจะเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับการปลูกพืชล้มลุกที่ตามมา

        ส่วนการจัดการดินสำหรับปลูกพืชล้มลุกได้แก่พืชไร่ หรือพืชผักต่าง ๆ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนั้น ให้ไถดินและยกแปลงปลูกให้สูงกว่าพื้นนาประมาณ 20 ซม. ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร และยาวตามขนาดของกระทงนา และระหว่างแปลงปลูกควรมีทางเดินกว้าง 30-50 ซม. เพื่อสะดวกในการเข้าไปดูแลพืชที่ปลูกและยังเป็นทางระบายน้ำในกรณีที่ฝนตกอีกด้วย การปลูกพืชไร่หรือพืชผักควรปลูกสลับกัน สำหรับพืชไร่ที่ปลูกควรปลูกพืชบำรุงดินสลับไปด้วย เพื่อช่วยรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน

    2. การจัดการดินสำหรับการเลี้ยงปลา โดยจะต้องเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งควรจะอยู่ใกล้บ้านของผู้เลี้ยงที่สุด และมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยง สำหรับบ่อเลี้ยงปลาควรมีพื้นที่ขนาดตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป โดยทั่วไปจะขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาด 2,500-3,000 ตารางเมตร สามารถปล่อยปลาได้ประมาณ 4,000 ตัว (เฉลี่ย 1.6 ตัวต่อตารางเมตร) การสร้างบ่อปลาทำได้โดยกรุยทางสำหรับยกคันบ่อตามแนวทางที่วางไว้ในแผนผัง เก็บเศษไม้กิ่งไม้ออก แล้วยกคันบ่อให้สุงกว่าระดับน้ำสูงสุดในรอบปีประมาณ 30 ซม. คันบ่อควรมีฐานเชิงลาดกว้างเท่ากับส่วนสูงของคันดิน จากนั้นเว้นช่องและสร้างประตูระบายน้ำตรงที่ใกล้หรือติดต่อกับแหล่งน้ำในพื้นประตูของทางน้ำเข้าสูงกว่าทางน้ำออก ซึ่งประกอบด้วยตะแกรงตาถี่ 2 ชั้น และไม้อัดตรงกลางยกขึ้นลงได้ รูปบ่อควรจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีน้ำขังได้ตลอดปีไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ในการเลี้ยงปลานั้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของปลา เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ พืชและไรน้ำ ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีของปลา และลูกปลาที่เลี้ยงด้วย ปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว ได้แก่ ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลโค กระบือ เป็ด ไก่ สุกร โดยใช้ปุ๋ยคอก 1 กก. ต่อพื้นที่ 3 ตารางเมตร ปุ๋ยหมักจะใช้ 6 กก.ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร และใส่ปูนขาว 1 กก.ต่อพื้นที่ 50 ตารางเมตร เพื่อลดความเป็นกรดของดินและน้ำในบ่อเลี้ยงปลา

        ชนิดของปลาที่เลี้ยง ควรเป็นพันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีลูกมาก อดทน มีรสดี และเป็นที่นิยมรับประทาน ปลาในลักษณะดังกล่าวมักจะเป็นพวกที่กินพืชผักเป็นอาหาร ซึ่งกรมประมงได้แนะส่งเสริมชนิดของปลาที่ควรเลี้ยง ได้แก่ ปลาไน ปลาสลิด ปลาดุก ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน และปลาตะเพียนขาว

        3. การจัดการสถานที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่ควรนำมาเลี้ยงได้แก่ สุกร เป็ด ไก่และห่านเป็นต้น โดยการสร้างโรงเรือนติดกับบ่อเลี้ยงปลา ใช้พื้นที่ในการสร้างประมาณ 200 ตารางเมตร สามารถดำเนินการสร้างได้ 2 แบบ คือ

            แบบที่หนึ่ง เป็นโรงเรือนหลังคามุงจาก ชั้นบนเป็นที่พักผู้ดูแลมี 2 ด้าน มีหมูข้างละ 10 ตัว ไก่ข้างละ 18 ตัว และมีท่อระบายน้ำ

            แบบที่สอง เป็นโรงเรือนเพิงหมาแหงน หลังคามุงจากประกอบด้วยหมู 3 คอก คอกละ 15 ตัว และไก่ 60 ตัว ทำท่อระบายน้ำด้วยเช่นกัน

        ประโยชน์ที่จะได้รับจากเลี้ยงสุกร และพวกสัตว์ปีก คือมูลสุกร และมูลเป็ดหรือไก่ จะเป็นอาหารที่ดีของปลา และมีคุณค่าทางธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช น้ำล้างมูลสุกรหรือมูลเป็ดและไก่ที่ระบายออกจากท่อเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยจะให้ธาตุอาหารแก่ปลา และแปลงปลูกพืชไร่หรือแปลงผัก นอกจากนี้น้ำจากบ่อเลี้ยงปลาสามารถใช้รดแปลงปลูกพืชได้

        4. การจัดการดินสำหรับการปลูกไม้ผล

        การปลูกไม้ผลในระบบการทำไร่นาสวนผสมในบริเวณที่ราบต่ำจำเป็นต้องมีการดัดแปลงพื้นที่จากนาข้าวเป็นร่องปลูกไม้ผล ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการมีดังนี้

            4.1 วางแนวร่องให้ขนาดสันร่องปลูกกว้างระหว่าง 6-8 เมตร และท้องร่องกว้างระหว่าง 1-1.5 เมตร และใช้แทรกเตอร์ปาดหน้าดินมาวางบนกลางสันร่อง

            4.2 ชุดดินจากคูที่วางแนวไว้มากลบบริเวณสันร่อง การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดสันร่องสูงอย่างน้อย 50 ซม. เหมาะในการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นอื่น ๆ

            4.3 ทำคันดินล้อมรอบสวน เป็นคันดินอัดแน่นและมีระดับความสูงมากพอป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ควรจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออกหรือเข้าตามความต้องการ

            4.4 ทำการปรับสภาพดินโดยการใส่ปูนขาวหรือปูนชนิดอื่น เพื่อลดความเป็นกรดของดิน และในร่องน้ำด้วย ในกรณีดินมีสภาพเป็นกรดแก่ถึงเป็นกรดจัดมาก

            4.5 การปลูกไม้ผล ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ยาวและลึก ขนาด 50-100 ซม. แยกดินชั้นบนและชั้นล่าง นำดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 20-50 กก./ต้น และอาจจะใส่ปูนขาว 3-5 กก./ต้น (ในกรณีที่ดินเป็นกรดแก่ถึงกรดจัดที่ยังไม่ได้ปรับสภาพดินด้วยการใส่ปูนขาวช่วงระหว่างการเตรียมดิน) แล้วนำดินผสมส่วนนี้ไว้ข้างล่าง ส่วนดินล่างซึ่งขุดขึ้นให้นำลงกลบส่วนบนอีกครั้ง

            4.6 การปลูกพืชคลุมดินเมื่อปลูกไม้ผลเสร็จแล้วให้ทำการปลูกพืชคลุมดินหรือพืชตระกูลถั่วคลุมผิวหน้าดินที่ว่างเปล่า พืชคลุมดินได้แก่ พืชตระกูลถั่วหลายชนิด เช่น ถั่วลาย(เซนโตรซีมา) ถั่วเซอราโตร ถั่วฮามาต้า (เวอราโน) และถั่วคุตซู โดยใช้เมล็ดในอัตราปลูก 1.5 กก./ไร่ หรืออาจจะใช้ประโยชน์ของวัสดุเศษพืชได้แก่ ฟางข้าวคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดิน ลดการชะล้างพังทลายของดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพื้ชให้แก่ดินซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของไม้ผลต่อไป

            4.7 การจัดการระบบปลูกพืชร่วมกับไม้ผล ในช่วงระหว่างที่ทำการปลูกไม้ 4-5 ปีแรกนั้น ควรปลูกพืชแซมระหว่างแถวของไม้ผลซึ่งเป็นประเภทพืชที่มีอายุสั้นได้แก่ พืชตระกูลถั่ว พืชผัก และพืชไร่ชนิดอื่น เช่น ข้าวโพดหวาน หรือข้าวโพดฝักอ่อนเป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงที่ไม้ผลยังไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และหลังจากไม้ผลมีอายุได้ประมาณ 4-5 ปี จึงหยุดการปลูกพืชแซม เนื่องจากการพืชแซมจะถูกคลุมหรือบังแสงแดดจากทรงุ่มของไม้ผลและจะมีผลกระทบต่อการแก่งแย่งธาตุอาหารระหว่างพืชแซมกบไม้ผลด้วย

        5. การจัดการดินสำหรับการปลูกพืชอาหารสัตว์

        การปลูกพืชอาหารสัตว์ในระบบไร่นาสวนผสมที่นิยมปลูกกันได้แก่การปลูกพืชอาหารสัตว์แบบสวนครัว โดยการปลูกพืชตระกูลหญ้าผสมพืชตระกูลถั่ว บริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของหลังบ้าน ตามบริเวณคันนาหรือในเขตพื้นที่ปลูกไม้ผล เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงโค หรือกระบือ ครอบครัวละ 2-3 ตัว

        พืชตระกูลถั่วที่แนะนำให้ปลูกได้แก่ หญ้าขน หญ้ากินนี หญ้าเนเปียหรือเนเปียลูกผสม และหญ้าโร้ด เป็นต้น ส่วนพืชตระกูลถั่วซึ่งเป็นพืชบำรุงดินและเพิ่มคุณค่าอาหารสัตว์นั้นมีทั้งประเภทไม้ล้มลุกและไม้ยืนต้น ได้แก่ถั่วลาย คุดซู ฮามาต้า ทาวสวิลสไตโล กระถิน แคและทองหลาง เป็นต้น สำหรับพืชตระกูลถั่วยืนต้นควรปลูกบริเวณริมรั้ว

        การปลูกพืชตระกูลถั่วยืนต้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากจะเป็นแหล่งอาหารเสริมโปรตีนของสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูแล้ง โดยการตัดใบของพืชตระกูลถั่วยืนต้นผสมกับหญ้าแห้งหรือฟางข้าวให้สัตว์กินจะทำให้ได้รับอาหารที่มีคุณค่าตลอดปี

        สำหรับการจัดการดินเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ คือหญ้าผสมถั่วมีวิธีการดำเนินการเช่นเดียวกับการปลูกข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล มีทั้งการเตรียมดินปลูก การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดินให้ร่วนซุยด้วยการใช้ปุ่ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์

        การทำไร่นาสวนผสม เกษตรกรจะเลือกกิจกรรมใดมาผสมผสานกันนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของเกษตรกรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่รวมทั้งสภาวะการณ์ของตลาดด้วย โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยกิจกรรมการปลูกพืชควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกิจกรรมแต่ละอย่างจะต้องเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน การจัดสัดส่วนของพื้นที่ที่เกษตรกรถือครองสำหรับแต่ละกิจกรรมนั้นควรยึดตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้น้ำ มีอัตราส่วนการจัดแบ่งพื้นที่โดยทั่วไป คือ 30:10:30:30 โดยคร่าว ๆ คือ 30% ขุดสระน้ำ 10% สร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก 30% สำหรับนาข้าว และอีก 30% สำหรับพืชไร่และพืชสวน ซึ่งอาจจะปรับสัดส่วนไปตามประเภทของพืช สภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ

backforward