6.การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 26 เพื่อให้เหมาะสมในการปลูกพืช
6.1 การเลือกชนิดของพืชให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และชนิดของดิน กลุ่มชุดดินที่26 มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและพืชผักต่าง ๆ หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากพบบนที่ดอน ในสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงลูกคลื่นลอนชัน ดินมีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึก
6.2 การจัดการเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้เกิดการร่วนซุยเหมาะสมต่อการปลูกพืชไร่และพืชผัก โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก เป็นต้น ใช้อัตรา 1.5-2.0 ต้น/ไร่ ใส่คลุกเคล้ากับเนื้อดินบนหรือการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ปอเทืองหรือโสนอัฟริกันแล้วไถกลบเมื่อออกดอก เป็นปุ๋ยพืชสดหรือการใส่วัสดุปรับปรุงดิน เช่น กากถั่วลิสงขี้เลื่อย แกลบ กากน้ำตาลและเศษพืช เป็นต้น ไถคลุกเคล้าและกลบลงไปในดิน เมื่อสลายตัวแล้วจะช่วยทำให้ดินร่วนซุยและกลายเป็นอินทรีย์วัตถุช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารพืชให้แก่ดินและ ยังช่วยดูดซับธาตุอาหารพืชที่ใส่ลงไปในดินในรูปปุ๋ยเคมีไม่สูญเสียไปได้ง่ายอีกด้วย
6.3 การจัดการเพื่อรักษาและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 26 มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ เมื่อใช้เพาะปลูกพืชติดต่อกันหลาย ๆ ปี ย่อมจะเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีดังนี้
6.3.1 การจัดระบบการปลูกพืชหมุนเวียน โดยมีการปลูกพืชตระกูลถั่วสอดแทรกอยู่ในระบบการปลูกพืชหลัก เช่น ปลูกถั่วลิสง-แตงโม-สัปรด หรือพืชผัก-ข้าวโพด-ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น จะช่วยรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตของพืชหลักที่ปลูกอีกด้วย
6.3.2 การปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงในดิน โดยปลูกพืชปุ๋ยสดเช่น ปอเทือง โสนโสนอัฟริกัน และถั่วต่าง ๆ ก่อนการปลูกข้าว 2-3 เดือน แล้วไถกลบลงในดินเมื่อพืชปุ๋ยสดออกดอก เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางด้านกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
6.3.3 การใช้ปุ๋ยเพื่อรักษาและปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป ในการใช้ดินปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม่ยืนต้นและพืชผัก สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด จะช่วยในการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วยปุ๋ยเคมีช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก สำหรับสูตรอัตราและวิธีการใช้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและดินที่ปลูกพืช ซึ่งสรุปไว้ในตารางที่ 3
6.4 การจัดการเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงซึ่งมีการชะล้างพังทลายของผิวหน้าดินอย่างรุนแรง ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอินทรีย์วัตถุและอนุภาคดินเหนียว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารพืช ดูดซับธาตุอาหารพืชและความชื้นในดินไว้ถูกชะล้างพัดพาลงสู่ที่ต่ำ เป็นเหตุให้แหล่งน้ำต่าง ๆ ตื้นเขิน ควรมีวิธีการจัดการและระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตร เช่น วิธีการไถพรวนหรือใช้วิธีการปลูกพืชแบบต่าง ๆ ตามแนวระดับขวางความลาดชันของพื้นที่ การทำร่องระบายน้ำเพื่อลดระดับความลาดชันและชลอความเร็วของการไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน ในบริเวณที่มีความลาดชันสูง ควรมีการทำขั้นบันไดและปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของผิวหน้าดิน ทั้งในช่วงปลูกและหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชแล้ว