7. ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินที่ 26 เพื่อการเกษตร

            กลุ่มชุดดินที่ 26 มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้ในการปลูกพืชไร่ ไม้ยืนต้น ไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากพบในสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงลูกคลื่นลอนชัน ดินมีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกดินมีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกพืชไร่หลายชนิด เช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพดหวาน แตงโมสับปะรด กล้วย มะละกอ พืชผักต่าง ๆ ไม้ยืนต้น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์กาแฟ โกโก้ สะตอ ไม้โตเร็ว ไม้ผล เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ขนุน ควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำเสริมเพื่อใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งดินอาจมีความชุ่มชื้นไม่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชบางชนิด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินนี้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสุงสุด ควรจะได้มีการจัดระบบการใช้ที่ดินแบบ “ไร่นาสวนผสม” โดยมีการแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้

        7.1 บริเวณที่ใช้ในการปลูกพืชไร่อายุสั้น ไม้ดอกหรือพืชผักต่าง ๆ

        7.2 บริเวณที่ใช้ปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น

        7.3 บริเวณที่พัฒนาแหล่งน้ำ ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักต่าง ๆ พื้นที่ส่วนนี้จะไม่ลุ่มและดอนจนเกินไป ขนาดของแหล่งน้ำที่จะพัฒนานั้นควรเป็นขนาดแหล่งน้ำประจำไร่นา คือ มีความจุประมาณ 1,250 ม3 จะมีจำนวนกี่แห่งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ประโยชน์ และแหล่งน้ำที่พัฒนาขึ้นมานี้ ควรจะมีการเลี้ยงปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาดและอื่น ๆ สำหรับบริเวณคันดินรอบบ่อหรือสระน้ำที่พัฒนาขึ้นควรใช้เป็นที่ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ฝรั่ง กล้วย ฯลฯ และไม้ดอกและไม้ประดับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ บริเวณคันดินรอบบ่อควรมีการปลูกหญ้า เช่น หญ้าแฝกทั้งด้านในและด้านนอกเพื่อป้องกันการกัดเซาะดินบริเวณคันดินรอบบ่อด้วย

        7.4 บริเวณที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ควรใช้บริเวณพื้นที่ที่พัฒนาเป็นแหล่งน้ำที่มีการเลี้ยงปลาด้วยโดยสร้างเป็นโรงเรือนขึ้นมาแล้วมีการเลี้ยงไก่ หมูและเป็ด ให้ถ่ายมูลลงในบ่อน้ำเพื่อเป็นอาหารของปลาซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนอาหารปลาได้ส่วนหนึ่ง

        7.5 บริเวณที่อยู่อาศัย ควรเป็นบริเวณพื้นที่สูงสุดของที่มีเกษตรกรถือครองสำหรับอัตราส่วนการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่กล่าว จะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง ความต้องการของเกษตรกรผู้ถือครองที่ดินและสภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ ความต้องการของตลาดทั้งในทั้งถิ่นและนอกทั้งถิ่น สำหรับผลิตผลทางการเกษตรที่กล่าว อย่างไรก็ตาม ควรจะได้ยึดตามแนวทฤษฎีใหม่ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีแนวพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่ถือครอง เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

 

back.gif (2807 bytes)forward.gif (2807 bytes)