6. การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 11 เพื่อให้เหมาะสมในการปลูกพืช
6.1 การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 11 ให้เหมาะสมในการปลูกข้าวหรือทำนา ข้อจำกัดที่สำคัญคือความเป็นกรดจัดของดินและดินขาดธาตุอาหารพืชบางอย่าง ทำให้ผลผลิตข้าวต่ำ จึงควรจัดการดังต่อไปนี้ เพื่อเพิ่มผลผลิตของข้าวที่ปลูก
6.1.1 การจัดการเพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของดิน ควรปฏิบัติดังนี้
6.1.1.1 การยับยั้งความเป็นกรดของดินมิให้เพิ่มขึ้น ในบริเวณที่มีน้ำชลประทานควรให้น้ำแช่ขังเพื่อมิให้หน้าดินแห้ง ถ้าหน้าดินแห้งอากาศจะแทรกลงไปในดิน ทำปฏิกิริยากับแร่ไพไรท์ที่หลงเหลืออยู่ในดิน ทำให้เกิดสารจาโรไซท์และกรดกำมะถัน จะทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีน้ำชลประทานเพียงพอ จึงแนะนำให้ใช้ดินกลุ่มนี้ปลูกข้าวอย่างน้อย 2 ครั้งในรอบปี ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันการเกิดกรดและลดกรดในดิน
6.1.1.2 การล้างกรดออกจากดินด้วยน้ำฝนและน้ำชลประทาน ปล่อยให้น้ำขังระยะเวลาสั้นๆ แล้วระบายออก ควรทำหลายๆ ครั้งและต่อเนื่องกันทุกปี ในกรณีไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ ให้ปล่อยน้ำขังแช่ในแปลงนาไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ เสร็จแล้วเตรียมดินปลูกข้าง จะช่วยลดความเป็นกรดของดิน ซึ่งวิธีนี้นับว่าได้ผลดีพอควร
6.1.1.3 การแก้ไขความเป็นกรดที่ได้ผล คือการใส่ปูนในรูปต่างๆ เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล เปลือกหอยเผา หินปูนบดหรือปูนฝุ่น อัตราใช้อยู่ระหว่าง 2-3 ตัน/ไหร่ ให้หว่านปูนทั่วแปลงนา ไถให้คลุกเคล้ากับดินและปล่อยน้ำให้ขังแช่ประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นระบายน้ำออก เพื่อล้างสารพิษ เสร็จแล้วขังน้ำใหม่เพื่อทำเทือกรอการปักดำ
6.1.2 การเลือกพันธุ์ข้าวทนดินเปรี้ยวจัดมาปลูกจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตข้าวที่ปลูก ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ (ดูตารางที่ 3)
6.1.3 การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว จำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยช่วยและการปลูกพืชบำรุงดินสลับกับการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง (ดูรายละเอียดในตารางที่ 3)
6.2 การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 11 สำหรับการปลูกพืชไร่และพืชผัก
การปลูกพืชไร่ในพื้นที่กลุ่มชุดดินที่ 11 ทำได้ในสองลักษณะคือการปลูกพืชไร่ในช่วงฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน พืชไร่ที่ปลูกควรมีอายุไม่เกิน 120 วัน เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วลิสง เป็นต้น การปลูกพืชไร่ในลักษณะที่เปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ โดยทำคันรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและมีการยกร่องปลูกอย่างถาวรเพื่อช่วยในการระบายน้ำของดินต้องลงทุนสูงกว่าการปลูกพืชไร่ในลักษณะแรก แต่สามารถปลูกพืชไร่ได้ตลอดทั้งปี หรือปลูกพืชไร่ที่มีอายุเกิน 120 วันได้ เช่น ฝ้าย สับปะรด และละหุ่ง เป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลือกการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ในสองลักษณะดังกล่าว การจัดการดินควรปฏิบัติดังนี้
6.2.1 การเตรียมพื้นที่ปลูก ในกรณีปลูกหลังกการเก็บเกี่ยวข้าวให้ทำร่องระบายน้ำรอบกระทงนากว้างประมาณ 50 ซม. และลึกประมาณ 20-30 ซม. และภายในกระทงนาด้วย เพื่อช่วยการระบายน้ำผิวดิน สำหรับการเปลี่ยนสภาพนาข้าวเป็นที่ปลูกพืชไร่อย่างถาวร คือปลูกทั้งฤดูฝนและฟโแล้งต้องสร้างคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝนและภายในยกร่องปลูกอย่างถาวร โดยให้สันร่องกว้างระหว่าง 6-8 เมตร และระหว่างสันร่องปลูกมีร่องน้ำกว้าง 1.5-2.0 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อช่วยการระบายน้ำออกเมื่อมีความจำเป็นและเก็บกักน้ำไว้ใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง บนสันร่องใหญ่อาจทำแปลงย่อยบนสันร่องสูง 20-30 ซม. กว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำของดินและช่วยในการชะล้างกรดออกจากดิน
6.2.2 การแก้ความเป็นกรดจัดของดิน ควรใส่ปูน หินปูนฝุ่นหรือปูนมาร์ลให้ถั่วแปลงหรือร่องปลูก อัตราประมาณ 2 ตัน/ไร่ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับเนื้อดิน ทิ้งไว้ประมาณ 15 วันก่อนปลูกพืช
6.2.3 การทำให้ดินร่วนซุย เนื่องจากกลุ่มชุดดินที่ 11 เป็นดินเหนียว หน้าดินจะไม่ร่วนซุย ควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใส่อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือมีการปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบลงไปในดินสลับกับการปลูกพืชไร่หรือพืชผักจะช่วยทำให้ดินเกิดการร่วนซุยดีขึ้น
6.2.4 การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีความจำเป็นสำหรับกลุ่มชุดดินที่ 11 มักขาดธตุอาหารหลัก หรือมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส จำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยช่วย สำหรับสูตร อัตรา และวิธีการใช้ได้สรุปไว้ในตารางที่ 3
6.3 การจัดการกลุ่มชุดดินที่ 11 สำหรับการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น
เนื่องจากกลุ่มชุดดินนี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เพราะเป็นดินที่เกิดในที่ราบเรียบและลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังในฤดูฝนเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน ดินมีการระบายน้ำเลวและดินเปรี้ยวจัด ในสภาพปัจจุบันไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ควรจะได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
6.3.1 ทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกเมื่อมีฝนตกหนัก
6.3.2 ยกร่องปลูกให้มีขนาดกว้าง 6-8 เมตร ส่วนร่องน้ำระหว่างสันร่องปลูกกว้าง 1.5-2.0 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อช่วยการระบายน้ำของดินและเก็บกักน้ำไว้ใช้รดต้นไม้ในช่วงฤดูแล้ง ถ้าเป็นไปได้ควรระบายน้ำในร่องออก 3-4 เดือนต่อครั้ง และควรควบคุมระดับน้ำในร่องไม่ให้ต่ำกว่าชั้นดินเลนที่มีไพรท์เป็นองค์ประกอบอยู่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้น
6.3.3 การแก้ความเป็นกรดจัดของดิน โดยการใช้ปูน หินปูนบดหรือปูนมาร์ล หว่านให้ทั่วร่องปลูก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ เสร็จแล้วให้ขุดหลุมปลูกมีขนาดกว้าง ยาว และลึกอยู่ระหว่าง 50-100 ซม. ตากดินที่ขุดขึ้นมาให้แห้งหรือตากไว้ 1-2 เดือน แล้วนำกลับลงไปในหลุมผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและผสมกับหินฝุ่นหรือปูนมาร์ล อัตรา 2.5 กก./หลุม ในกรณีที่ไม่ได้กว่านปูกนหรือปูนมาร์ลบนร่องปลูกให้คลุกหินปูนหรือปูนมาร์ลกับดินในหลุมปลูก อัตรา 15 กก./หลุม ในการแก้ความเป็นกรดจัดของดิน
6.3.4 การปรับปรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในการปลูกไม้ผลที่จะให้ได้ผลดีจำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีช่วยนอกเหนือจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับสูตร อัตราและวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับพืช ดังที่สรุปไว้ในตารางที่ 3