7. ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินที่ 11 เพื่อการเกษตร
กลุ่มชุดดินนี้มีศักยภาพเหมาะในการทำนามากกว่าการใช้ประโยชน์ในการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก เนื่องจากพบในสภาพพื้นที่ราบเรียบและราบลุ่ม ดินเป็นดินเหนียว การระบายน้ำเลว ในช่วงฤดูฝนมีน้ำท่วมขัง 4-6 เดือน แต่ในสภาพปัจจุบันผลผลิตข้าวต่ำเนื่องจากดินเป็นกรดจัด ถ้าได้มีการแก้ไขหรือปรับปรุงความเป็นกรดของดินแล้วจะเป็นกลุ่มดินที่เหมาะสมในการปลูกข้าวเป็นอย่างดี ทางเลือกในการใช้ประโยชน์กลุ่มชุดดินนี้ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง ได้แก่
7.1 การเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากนาข้าวเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ กล้วยหอม มะพร้าว หรือปลูกผักต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงหรือปลูกไม้โตเร็ว ถ้าได้มีการปรับปรุงพื้นที่โดยทำคันดินรอบพื้นที่ปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนและยกร่องปลูกพืชเพื่อช่วยการระบายน้ำของดินให้ดีขึ้น ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว
7.2 การเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นบ่อเลี้ยงปลา น่าจะเป็นการใช้ที่ดินที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง พันธุ์ปลาที่แนะนำให้เลี้ยงได้แก่ ปลาดุกอุยเทศ ปลาไน ปลานิล และปลาตะเพียนขาว เป็นต้น ส่วนการจัดการบ่อปลาและวิธีการเลี้ยงปลาแต่ละชนิดควรขอคำแนะนำจากประมงอำเภอ ประมงจังหวัดหรือที่กรมประมง
7.3 การเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินจากนาข้าวเป็นการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการเลี้ยงโคนมที่ต้องการพื้นที่ไม่มากนักและคาดว่าจะให้ผลตอบแทนทางเศรษบกิจสูงกว่าการใช้ที่ดินกลุมนี้เพื่อการปลูกข้าว
7.4 รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มชุดดินนี้ ได้แก่ การจัดที่ดิน แบบไร่นาสวนผสม โดยแบ่งการใช้ที่ดินเป็นนาข้าว ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีอัตราส่วน 4:3:2:1 ของพื้นที่ถือครอง หรือแบ่งการใช้ที่ดินออกเป็นนาข้าว ที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาและที่อยู่อาศัย มีอัตราส่วนเท่ากับที่กล่าวมาแล้ว การที่เกษตรกรจะเลือกรูปแบบไร่นาสวนผสมแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาของผลผิตและความต้องการของตลาด และกิจกรรมที่ดำเนินการต้องเอื้อประโยชน์ต่อกันด้วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต